COLUMNIST

"ชีวมวลไทย" ไม่จำเป็นต้องผลิตไฟฟ้า ก็ช่วยรักษาโลกร้อนได้
POSTED ON -


 

ปัจจัย 4 ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ปัจจัยที่ 5, 6, 7... จะทำให้มนุษย์อยู่บนโลกนี้อย่างสะดวกสบายมีความสุขเกินพอ และสิ่งที่จะช่วยให้ทุกๆ ปัจจัยที่มนุษย์ต้องการขับเคลื่อนไปได้ ก็คือ “พลังงาน” ดังนั้น สงครามและความไม่สงบที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนใหญ่จึงเป็นสงครามแย่งชิงพลังงาน โดยต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลอื่นๆ ในการทำสงครามหรือก่อเหตุความไม่สงบ

 

“พลังงานทดแทน” ก็เช่นกัน เริ่มมีการแย่งชิงกันแบบสงครามเย็นมาโดยตลอด มาถึงวันนี้กำลังจะเกิดการประกาศสงครามกันแล้ว โดยเริ่มจากแย่งชิงกันภายในประเทศก่อน แล้วมหาอำนาจด้านพลังงานระดับโลกก็จะเข้ามาเป็นกรรมการและถือครองพลังงานทดแทนในประเทศกำลังพัฒนาในที่สุด

 

สำหรับประเทศไทย แผนพัฒนาพลังงานทดแทนฉบับล่าสุดใน 10 ปี (Alternative Energy Development Plan : AEDP) มอบภารกิจหนักให้กับ "ชีวมวล" รับไปถึง 4,800 MW จากพลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทนรวมทั้งสิ้นตามเป้าหมาย 10,000 MW หรือ 48% ดังนั้น บทความนี้จึงขอพาท่านผู้อ่านแฟนพันธุ์แท้พลังงานท่องไปในโลกของชีวมวลจากระดับโลกแล้วกลับมาพักที่ประเทศไทยบ้านเราดูว่าใครจะมีกึ๋นกว่ากัน

 

ในฐานะผู้ผลิตชีวมวล ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์ มีแสงแดดให้พืชสังเคราะห์ทุกวันตลอดปี แต่กลับมีศักยภาพด้านชีวมวลแพ้ประเทศที่มีแสงแดดแค่ปีละไม่ถึงครึ่งปี สาเหตุหลักๆ อาจมาจากวิสัยทัศน์และขาดการส่งเสริมที่ดี ทั้งนี้ หากเราแยกประเภทชีวมวลจากแหล่งกำเนิดจะได้ 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ

 

1. แหล่งแปรรูปผลผลิตเกษตรกรรม ซึ่งภาคธุรกิจเราเรียกแหล่งนี้ว่า “ชีวมวลพร้อมใช้ประโยชน์” ได้แก่ แกลบ ชานอ้อย ซังข้าวโพด เป็นต้น ชีวมวลพร้อมใช้จะมีต้นทุนต่ำกว่า เนื่องจากไม่ต้องรวบรวมจากแหล่งต่างๆ แต่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการแปรรูป ซึ่งในอดีตอาจเป็นส่วนเกินที่ต้องกำจัด

 

2. พื้นที่เพาะปลูก เราเรียกว่า" ชีวมวลไม่พร้อมใช้ต้องมีการรวบรวม" เช่น ฟางข้าว ทางและต้นปาล์ม ใบอ้อย เป็นต้น

 

3. ชีวมวลที่มาจากการปลูกหรือจากการแปรรูปไม้ ในภาคอุตสาหกรรมจัดอยู่ในกลุ่มชีวมวลไม่พร้อมใช้ซึ่งมีต้นทุนสูง ต้องมีการบริหารจัดการและลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะเป็นชีวมวลที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต เช่น กระถิน เนเปียร์ ชิ้นส่วนของไม้ยางพารา ทะลายปาล์มและยูคาลิปตัส เป็นต้น

 

ตลาดโลกด้านชีวมวลจะมีการรับซื้อชีวมวล 2 ประเภทที่แปรรูปแล้ว คือ (1) ในรูปแบบของเชื้อเพลิงอัดแท่ง (Wood pellets) และ (2) ในรูปแบบของไม้สับ (Woodchips) แต่หากเป็นไม้สับจาก "ยูคาลิปตัส" จะมีการส่งออกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระดาษ

 

ในที่นี้จะขอพาท่านไปดูตลาดของ Wood pellets ส่วน Woodchips ซึ่งกำลังประกาศสงครามแย่งชิงกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างผู้ผลิตเยื่อกระดาษและผู้ส่งออกเพื่อเป็นวัตถุดิบให้โรงงานผลิตกระดาษในต่างประเทศ หากท่านสนใจลองติดตามข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดูก็แล้วกัน

 

 

ความต้องการ Wood pellets ของตลาดโลกในปี ค.ศ.2015 อยู่ที่ 36 ล้านตันต่อปี และคาดการณ์ว่าในปี 2020 ตลาดโลกจะต้องการถึง 58 ล้านตันต่อปี สำหรับประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต Wood pellets ได้ประมาณ 19 ล้านตันต่อปี (32 ล้านตันสด) ถ้าทำได้ไทยจะก้าวมาที่อันดับต้นๆ ของผู้ส่งออก แต่ตอนนี้ยังไม่อยู่ในอันดับต้นๆ

 

โดย 10 อันดับแรกของผู้ส่งออก Wood pellets มากที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับที่ 1.สหรัฐอเมริกา 2.แคนาดา 3.รัสเซีย 4.ยูเครน 5.โครเอเชีย 6.เบลารุส 7.บอสเนีย และ เฮอร์โกวีนา 8.แอฟริกาใต้ 9.เซอร์เบีย และ 10.ออสเตรเลีย (ข้อมูลจาก Renewable 2013 Global Status Report) โดยประเทศอันดับที่ 1 อย่างสหรัฐอเมริกาส่งออก Wood pellets ถึงปีละเกือบ 2,000 กิโลตัน (1,000 เมตริกตัน = 1 กิโลตัน)

 

ชีวมวลอัดแท่ง หรือ Wood pellets มีค่าความร้อนสูงถึง 4,100 - 4,200 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม นอกจากจะเป็นเชื้อเพลิงที่ปลอดภัยจากมลพิษแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันดิบจากฟอสซิล ก็ยังมีราคาที่ถูกกว่ามากอีกด้วย โดยค่าความร้อนของ Wood pellets 1 เมตริกตัน = น้ำมันดิบ 3.36 บาร์เรล (1 MT. = 3.36 Barrel)

 

ดูง่ายๆ จากราคา Wood pellets : CIF ประมาณ 185 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนน้ำมันดิบขึ้นลงอยู่ในบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ นี่พอทำให้ท่านตื่นจากความฝันการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าค่าไฟถูกๆ ได้หรือยัง? หรือลองศึกษาข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ปี พ.ศ.2512 ของเราดูว่าน่าสนใจมากเพียงใด

 

 

เพื่อยืนยันข้อมูลว่าชีวมวลไทยสร้างโอกาสแค่ไหนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ควักกระเป๋าเกือบ 20 ล้านบาท ค้นหาศักยภาพเชิงปริมาณของเศษวัสดุภาคการเกษตร อาทิ ยอดและใบอ้อย ปีกไม้ยางพารา ทางปาล์ม ฟางข้าว เหง้ามันสำปะหลัง ฯลฯ ผลปรากฏว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากเศษวัสดุเหล่านี้กว่า 8 พันเมกะวัตต์ (ข้อมูลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2556)

 

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับชีวมวล มีดังนี้

 

Woodchips (ไม้สับ) จากยูคาลิปตัส ราคาส่งออก เพื่อผลิตกระดาษ (Bone Dry Metric Tons : BDMT) ราคาอยู่ที่ตันละ 3,100 - 3,350 บาท ถ้าเป็นการซื้อขายแบบตันสด ความชื้นต่ำกว่า 50% ราคาส่งออกตันละ 1,700 - 1,800 บาท

 

Wood pellets สำหรับใช้กับบ้านเรือน (Household) คุณภาพของชีวมวลไทยยังไปไม่ถึง ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม ซึ่ง Household Wood pellets นี้ราคาดีมาก สำหรับราคา Wood pellets ที่จำหน่ายในประเทศราคาระหว่าง 3,600 - 3,800 บาท ขึ้นอยู่กับความชื้นและปริมาณเถ้า ราคาส่งออกไปเกาหลี ญี่ปุ่น แบบ FOB จะอยู่ระหว่าง 135 - 155 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ลองศึกษาจากตารางคุณสมบัติ Wood pellets สำหรับส่งออกในเอเชียดูก่อน

 

 

เพื่อให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ขอยกตัวอย่างรูปแบบการพัฒนาพลังงานชีวมวลส่งออกในรูปแบบของ Wood pellets สำหรับชุมชน ที่ใช้พื้นที่เพียง 10 ไร่ ด้วยการปลูกกระถินเมล็ดพันธุ์จากออสเตรเลีย มีขายทั่วไป โตเร็ว ไม่ทำให้ดินเสีย ต้นละสิบกว่าบาท เมื่อโตเต็มที่จะได้ผลผลิตสำหรับผลิต Wood pellets ประมาณ 6 ตันต่อปี เฉลี่ยรายได้ไร่ละประมาณ 20,000 บาท แต่ต้องมีการลงทุนเครื่องจักรบ้าง จึงควรทำในรูปของสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน

 

สำหรับท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทางอีเมลได้ที่ E-mail : wattanapong@tipawat.com หรือ tinsuntisook@yahoo.com ส่วนท่านที่ผลิต Wood pellets อยู่แล้วและต้องการมีตลาดอย่างถาวร ราคาเป็นธรรม ให้ติดต่อกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. ได้โดยตรง เรามีสมาชิกยักษ์ใหญ่พร้อมซื้อแบบไม่จำกัดจำนวน ตามคุณสมบัติและมาตรฐานที่กำหนด

 

หากท่านเข้าใจเชื้อเพลิงชีวมวลอย่างที่ผู้เขียนเข้าใจแล้ว คงจะตอบได้ว่ากระทรวงพลังงานอาจจะต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ ให้หันมาส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงแทนการส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งอาจต้องทุ่มเทงบประมาณส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ ในอัตราที่ค่อนข้างสูง หากหันมาส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวมวล แล้วคำนวณค่าพลังงานให้ได้ตามเป้าหมาย AEDP ดูจะเป็นไปได้มากกว่า รวมทั้งต้องเร่งส่งเสริม Biogas ทั้งที่เป็น CBG หรือผลิตความร้อน

 

สำหรับพลังงานขยะ คงต้องพิจารณาอัตราส่งเสริมให้สูงคุ้มความเสี่ยงของผู้ลงทุน ส่วนสถานภาพปัจจุบันของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ไม่มีเชื้อเพลิงพร้อมใช้ของตนเองกว่า 80% กำลังถูกสถาบันการเงินปรับโครงสร้างเงินกู้ (Refinance) อันเนื่องมาจากการปรับตัวของราคาชีวมวลและอัตรา Adder ปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิง

 

ท่านเห็นด้วยหรือไม่ถ้าเมืองไทยจะส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวล (Wood Fuel) แทนการผลิตไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการต้องเสี่ยงการขาดทุน และภาครัฐต้องควักกระเป๋าซื้อไฟราคาแพงขึ้น... คิดใหม่ ทำใหม่ เอาใจช่วย... ในยุคการปฏิรูปพลังงานไทยเพื่อคนไทยทั้งประเทศ